คุณเป็น “ผู้นำ” หรือแค่ “ควบคุม”? Mintzberg มีคำตอบ
- MC Team
- 5 วันที่ผ่านมา
- ยาว 1 นาที
อัปเดตเมื่อ 5 วันที่ผ่านมา
“No job is more vital to our society than that of the manager.” – Henry Mintzberg

ครบรอบ 50 ปีของบทความคลาสสิก “The Manager’s Job: Folklore and Fact” ของศาสตราจารย์ Henry Mintzberg — งานเขียนที่ไม่ได้เพียงแค่ตั้งคำถามกับภาพจำของ “ผู้บริหารที่ดี” แต่ได้เปลี่ยนวิธีคิดของทั้งวงการบริหารไปทั่วโลก
ในยุคที่เทคโนโลยีเปลี่ยนเร็วกว่าองค์กรตามทัน และ “ภาวะผู้นำ” ถูกพูดถึงจนกลบ “การบริหาร” ที่เป็นรากฐานแท้จริงของความสำเร็จ Mintzberg กลับมาสะท้อนให้เราเห็นว่า “ผู้บริหารที่ดี” ไม่ได้เป็นแค่คนที่วางแผน แต่คือผู้ที่ ลงมือทำ เห็นใจ เข้าใจ และเชื่อมโยงองค์กรอย่างแท้จริง
Reframing Management: เปลี่ยนวิธีคิด… ไม่ใช่แค่เปลี่ยนวิธีทำ
ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา Mintzberg เป็นนักคิดที่โดดเด่นด้านการ “reframe” หรือเปลี่ยนกรอบความคิด เช่น:
กลยุทธ์ (Strategy) ไม่ใช่การวางแผนล่วงหน้า แต่เป็นสิ่งที่เรียนรู้จากการลงมือทำ
การฝึกผู้บริหาร (Managerial Training) ไม่ใช่เรียนจากเคสสตัดดี้ แต่ต้องเรียนรู้ร่วมกันจากประสบการณ์จริง
โครงสร้างองค์กร (Structure) ไม่ใช่สิ่งที่วางบนกระดาษ แต่เป็นสิ่งที่ค้นพบจากพฤติกรรมการทำงานของคนในองค์กร
ตัวอย่างเช่น การจัดสวนที่ออกแบบทางเดินเป็นเส้นโค้ง แต่คนเดินตัดตรงจาก A ไป B เสมอ นักออกแบบที่เข้าใจพฤติกรรมจริงจะเลือก “ปูทางตามที่คนเดิน” ซึ่งก็คือหลักเดียวกันกับ “การออกแบบองค์กรตามธรรมชาติของการทำงานจริง” นั่นเอง
เข้าใจโครงสร้างองค์กรก่อนจะบริหารได้จริง
Mintzberg แบ่งองค์กรออกเป็น 4 รูปแบบหลัก:
Personal Organization – ธุรกิจที่ผูกกับเจ้าของ เช่น ร้านอาหารเล็กๆ
Programmed Organization – โครงสร้างแบบแม่นยำ ระบบสูง เช่น McDonald’s
Professional Organization – ขับเคลื่อนด้วยความเชี่ยวชาญเฉพาะ เช่น โรงพยาบาล มหาวิทยาลัย
Project Organization – ขับเคลื่อนด้วยโครงการ เช่น บริษัททำภาพยนตร์ หรือ R&D Lab
สิ่งสำคัญคือ “ผู้บริหารไม่สามารถใช้หลักการเดียวกันกับทุกประเภทขององค์กรได้” เช่น การเอาผู้บริหารโลจิสติกส์มาเป็นผู้อำนวยการสถาบันการศึกษา อาจทำให้อาจารย์ชั้นยอดลาออกกันหมด เพราะโครงสร้างและวิธีคิดไม่ตรงกัน
การบริหารคือความเข้าใจ ไม่ใช่การควบคุม
Mintzberg เตือนเราว่า ความเข้าใจผิดใหญ่ขององค์กรวันนี้คือการแยก “ภาวะผู้นำ” ออกจาก “การบริหาร” และยกย่องผู้นำจนลืมพื้นฐานของการลงมือทำ
“Managing is not planning, organizing, or coordinating—but calculated chaos and controlled disorder.”
เขายกตัวอย่าง Jack Welch (อดีต CEO ของ GE) ที่ลงไปคลุกกับปัญหาหน้างานโรงงานหลอดไฟ แล้วประสานงานกับทีมเครื่องยนต์เจ็ทเพื่อแก้ปัญหาซอฟต์แวร์ — ไม่ใช่เพราะ CEO ต้องแก้ทุกอย่างเอง แต่เพราะ “คนที่บริหารต้องเข้าใจความจริง ณ สถานะการณ์จริง”
องค์กรดี เริ่มจากการคัดเลือกผู้บริหารที่ใช่
การเลือกคนบริหารผิด เป็นจุดเริ่มของความล้มเหลวทั้งระบบ Mintzberg เสนอว่าไม่ควรพิจารณาแค่จากเบื้องบน แต่ควร “ฟังเสียงของคนที่เคยทำงานร่วมกับผู้สมัครจริง” เพื่อดูว่าเขา “บริหาร” จริงหรือแค่ “ควบคุม” คน
ในบางบริษัทที่ปรึกษา มีระบบให้พาร์ตเนอร์เลือกผู้นำองค์กรร่วมกัน — ไม่ใช่แค่ประชาธิปไตย แต่เพราะ “คนที่เคยถูกบริหาร” รู้ดีที่สุดว่าผู้นำคนไหนสร้างงานหรือสร้างปัญหา
บทสรุปสำหรับผู้บริหารยุคใหม่
ถามตัวเอง: เข้าใจองค์กรของคุณจริงหรือยัง? ไม่ใช่จากภาพรวม แต่จากพฤติกรรมของคนในงาน
อย่าบริหารจากหอคอย — ลงไปสัมผัสหน้างานจริง เห็นและฟังด้วยตนเอง
พัฒนาโครงสร้างจากพฤติกรรมจริง ไม่ใช่ทฤษฎี – ปูทางตามที่คนเดิน
ผู้นำไม่พอ ต้องมีผู้จัดการที่ลงมือทำและเข้าใจ
วัดผู้จัดการจากผลกระทบต่อคนรอบตัว ไม่ใช่แค่ผลงานบนกระดาษ
Comments