กิจกรรมเสริมสร้างการตระหนักรู้ในตัวเอง คือ การฝึกฝนที่ช่วยให้คุณเข้าใจตัวตนและเป้าหมายในชีวิตของคุณมากขึ้น โดยกระตุ้นให้คุณพิจารณาถึงค่านิยมส่วนตัว ความรู้สึก และความต้องการของคุณ ช่วยให้คุณเห็นสิ่งที่คุณรักเกี่ยวกับตัวเองและจุดที่ต้องการการพัฒนา
การเข้าใจตัวเองมากขึ้นสามารถทำให้คุณรู้ว่าคุณต้องการอะไร (และไม่ต้องการอะไร) ในทุกด้านของชีวิตและความต้องการเหล่านี้สัมพันธ์กันอย่างไร เพื่อให้เห็นภาพชัดเจนขึ้นว่าคุณเป็นใครในมุมมองที่กว้างขึ้น
บทความนี้ เราจะแนะนำ 8 กิจกรรมและแนวคิดที่จะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในตัวเองและเข้าใจตนเองมากขึ้น
1) การเขียน Journal
การเขียน Journal คือ การจดบันทึกความคิดของคุณลงบนสมุดเล่มหนึ่ง คุณสามารถเขียนเกี่ยวกับเรื่องราวในแต่ละวัน ความกังวล หรือใช้คำถามเพื่อค้นหาตัวเอง จะช่วยให้คุณเริ่มเขียนได้ง่ายขึ้น โดยเล่าเรื่องราวอย่างตรงไปตรงมาและปล่อยให้ความคิดไหลออกมาอย่างอิสระ จากนั้นกลับมาสังเกตและพิจารณาสิ่งที่คุณเขียน การติดตามแนวโน้มและหัวข้อต่างๆ ที่เกิดขึ้นจะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองมากขึ้น รู้ว่าความไม่มั่นคงของคุณคืออะไร และค้นพบความสามารถที่คุณมี
2) การใช้ศิลปะแห่ง Mindfulness
Mindfulness หรือ การฝึกสติ หมายถึง “การจดจ่ออยู่กับช่วงเวลาปัจจุบัน” การทำเช่นนี้อย่างสม่ำเสมอจะช่วยเพิ่มความตระหนักรู้ในตัวเองและทำให้คุณจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น ลองฝึกสติเป็นประจำเพื่อให้คุณมีความสงบและรู้จักตัวเองมากขึ้นในทุกๆ วัน
3) การตั้งคำถามสร้าง Self-Awareness
ใช้การตั้งคำถามเพื่อค้นหาตัวเอง เช่น “อะไรที่ทำให้ฉันมีแรงบันดาลใจ?” หรือ “ฉันจะบอกคนอื่นว่าเป็นคนแบบไหน?” ไม่ว่าคุณจะชอบเขียนลงบนกระดาษหรือคิดในใจ คำตอบสำหรับคำถามเหล่านี้มักจะอยู่ในตัวคุณอยู่แล้ว การหาคำตอบเหล่านี้จะช่วยให้คุณรู้จักตัวเองได้ดีมากขึ้น
4) Gounding Techniques
การนำตัวเองกลับมาอยู่กับปัจจุบัน หรือที่เรียกว่า Gounding Techniques สามารถช่วยคุณจัดการกับความเครียดหรือความวิตกกังวลได้ ลองใช้กระดาษสักแผ่น เพื่อจดบันทึกความรู้สึกของคุณเมื่อคุณต้องการหลีกหนีจากความคิดที่วนเวียน การฝึกนี้จะช่วยให้คุณตระหนักถึงความรู้สึกของตัวเองมากขึ้นและช่วยให้คุณจัดการกับความเครียดได้ดีขึ้น
5) การพูดคุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านจิตวิทยา
การปรึกษากับผู้เชี่ยวชาญด้านสุขภาพจิตหรือโค้ช เป็นวิธีที่ยอดเยี่ยมในการทำความเข้าใจตัวเองมากขึ้น ในการบำบัด นักจิตวิทยาที่มีประสบการณ์จะช่วยคุณสำรวจประสบการณ์ในอดีตและเข้าใจพฤติกรรมของคุณ
ในการโค้ช คุณจะได้ค้นหาแรงจูงใจภายในของตัวเองและได้รับการสนับสนุนอย่างตรงจุดในการวางแผนเพื่อเปลี่ยนแปลง คุณจะสามารถตั้งเป้าหมายเพื่อการตระหนักรู้ในตัวเองและวางแผนที่ชัดเจนเพื่อพัฒนาตัวเอง โดยมุ่งเน้นไปที่การสร้างอนาคตที่ดีกว่าเดิม
6) Vision Boards
Vision boards คือ พื้นที่ที่คุณสามารถเติมเต็มด้วยภาพหรือคำพูดที่สร้างแรงบันดาลใจ ไม่ว่าจะเป็นในความคิดหรือกระดานจริงๆ เครื่องมือนี้ช่วยให้คุณมองเห็นภาพอนาคตในฝันของคุณได้ทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องงานหรือสถานที่ที่อยากไป
การสร้าง Vision board จะช่วยให้คุณเข้าใจกับความปรารถนาของตัวเอง และช่วยให้คุณตัดสินใจได้ว่าเป้าหมายที่แท้จริงของคุณคืออะไร
7) การตั้งคำถามว่า “ทำไม…?” 5 WHYs
การตั้งคำถามว่า “ทำไม” 5 ครั้ง เป็นกิจกรรมที่ช่วยให้คุณค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของความรู้สึกหรือสิ่งที่คุณรู้อยู่แล้ว ให้ลึกซึ้งขึ้น เมื่อคุณเจอสถานการณ์ที่ไม่แน่ใจว่ารู้สึกอย่างไร ลองถามตัวเองว่า “ทำไม”
5 WHYs คือเครื่องมือที่ใช้ในการวิเคราะห์รากสาเหตุของปัญหา (Root Cause Analysis) ซึ่งถูกพัฒนาโดย Sakichi Toyoda ผู้ก่อตั้งบริษัท Toyota เครื่องมือนี้ใช้ถามคำถาม "ทำไม?" (Why?) ต่อเนื่องกัน 5 ครั้ง (หรือมากกว่านั้น) เพื่อค้นหาสาเหตุที่แท้จริงของปัญหา
ขั้นตอนของ 5 Why มีดังนี้:
ระบุปัญหา: เริ่มต้นด้วยการอธิบายปัญหาที่ต้องการแก้ไข
ถาม "ทำไม?" ครั้งที่ 1: ถามว่า "ทำไม?" ปัญหานี้ถึงเกิดขึ้น
ถาม "ทำไม?" ครั้งที่ 2: จากคำตอบของคำถามแรก ถามว่า "ทำไม?" อีกครั้ง
ถาม "ทำไม?" ต่อไปจนถึง 5 ครั้ง: ทำซ้ำจนกว่าจะพบรากสาเหตุของปัญหา
8) “ฉันคือใคร?”
“ฉันคือใคร?” เป็นเครื่องมือที่นักบำบัดใช้เพื่อช่วยให้คุณประเมินตัวเอง โดยเริ่มด้วยการเขียนส่วนสำคัญของตัวตนของคุณ เช่น จุดแข็ง จุดอ่อน ความชอบ ความสนใจ คุณค่า ทัศนคติ ความเชื่อ, บทบาทในครอบครัว ที่ทำงาน สังคม ความสัมพันธ์กับคนรอบข้าง, อารมณ์ที่เกิดขึ้นบ่อย ความรู้สึกต่อเหตุการณ์ต่าง ๆ, สิ่งที่ต้องการทำให้สำเร็จ เป้าหมายในชีวิต ความฝัน
หลังจากเขียนเสร็จแล้ว อ่านทบทวนสิ่งที่คุณเขียนและใช้เวลาสะท้อนความคิดเกี่ยวกับสิ่งที่คุณได้เขียนไว้ ลองคิดดูว่าแต่ละข้อที่คุณเขียนมีความหมายอย่างไรกับคุณ ทำไมคุณถึงรู้สึกเช่นนั้น และสิ่งเหล่านั้นสะท้อนให้เห็นถึงคุณค่าหรือความเชื่อของคุณอย่างไร สรุปสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการทำกิจกรรมนี้ ลองเขียนบันทึกสรุปว่า คุณได้ค้นพบอะไรเกี่ยวกับตัวเองบ้าง
Sources
Comentários